คาดการณ์วิกฤติครั้งต่อไปในอนาคต และแนวทางการจัดการองค์กร Part 3
3. ความหมายแบบกว้างของ Scenario analysis :
เครื่องมือหรือวิธีการเพื่อใช้ในการคาดการณ์โอกาสของวิกฤติที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจจะเกิดขึ้น รวมถึงผลกระทบที่จะตามมา (aftermath) โดยประเมินว่าจะมีปรากฎการณ์หรือวิกฤติใดบ้างที่ไม่คาดฝัน หรือแนวโน้มใดบ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (อ้างจาก Kishita et.al.,2016 และเพิ่มเติมโดย สสรณ์ โสรัตน์)
การทำ scenario analysis มีรูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ขอบเขต อาทิ เพื่อการจัดการความเสี่ยง อิงกับหลักคิดทางมิติเศรษฐศาสตร์ หรือใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ ขึ้นอยู่กับประเภทของธุรกิจ ความซับซ้อนของธุรกิจและบริบทของอุตสาหกรรมนั้นๆ แต่ในที่นี้เพื่อทำให้ง่ายต่อความเข้าใจจะแสดงแบบไม่ซับซ้อนและกระชับเพื่อเป็นแนวทางเบื้องต้น
4. แหล่งที่มาของการดาดการณ์ scenario (source of prediction) :
บทความนี้ขออิงกับญาณวิทยา (epistemology) เป็นฐานคิดหลักครับ (ใช้ความรู้ การใช้ความเป็นเหตุเป็นผล)
ศึกษาเพื่อเรียนรู้จากอดีตจนถึงปัจจุบันของวิกฤติต่างๆ ที่ได้เกิดขึ้นไปแล้ว และคัดเลือกเฉพาะที่เกี่ยวข้องเหมาะสมกับกิจการ
จากการรวบรวมและใช้ managed Big data
หนังสือหรือภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับ Sci-Fi หรืออนาคตศาสตร์
ประสบการณ์และ intuitive ของผู้บริหาร
ข่าวสาร/ วารสารของสำนักทำนายต่างๆ ที่เชื่อถือได้
ติดตามแนวโน้มของอนาคตที่แม้แต่เริ่มมี weak signal
พบปะ สอบถามกับบุคคลภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญ มีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนี้ รวมถึง Suppliers ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
5. การวิเคราะห์ Scenario มีขั้นตอนคร่าวๆ พอสรุปให้กระชับได้ดังนี้ :
5.1 ประการแรกคือ ต้องเข้าใจธุรกิจตนเอง และมองภาพรวมของธุรกิจแบบครอบคลุม รวมถึงอุตสาหกรรมที่องค์กรดำเนินการอยู่ และกำหนด value system คร่าวๆ เป็นการป้องกันการหลงประเด็น และกำหนดการคาดการณ์วิกฤติที่ไม่คาดฝัน แต่หากเกิดขึ้นแล้วจะกระทบต่อองค์กรในทางลบ เพื่อเป็นการขีดวงหรือจำกัดจำนวนวิกฤติไม่ให้มีจำนวนมากเกินไป เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจและอุตสาหกรรมจริงๆ (ถือเป็นหมุดตรึงแรกที่สำคัญที่สุด)
5.2 จำเป็นต้องให้ผู้บริหารหน่วยงานอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องทั้ง internal และ external business process ในลักษณะ Brainstorming เพราะเกือบทุกวิกฤติจะกระทบเกือบทุกกิจกรรมขององค์กร ซึ่งผู้บริหารแต่ละหน่วยงานสามารถช่วยคิด กำหนดและวางแผนรับมือได้
5.3 ปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ใช้เป็นตัวกำหนด :
5.3.1 ประเภทของวิกฤติที่มีโอกาสจะเกิดขึ้น (type of possible crises) ตัวอย่างได้แก่ ปีนี้ทางราชการได้คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกหนักที่สุดในรอบ 30 ปี นั่นหมายถึง พายุที่จะเข้ามาติดต่อกัน ผลที่จะตามมาคือ มีความเป็นไปได้ที่ถนนถูกตัดขาดจากการเกิดน้ำท่วม กระแสไฟฟ้าอาจขัดข้อง หรือไฟตก เป็นต้น อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การแพร่ระบาดของโรค จากคนสู่คน หรือคนสู่สัตว์ จะกระทบทั้ง value system นอกจากนี้ยังมีวิกฤติในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งผลที่ตามมาอาจจะกระทบทั้งเรื่อง ราคาน้ำมันดิบ วัตถุดิบ จากการนำเข้าจากต่างประเทศ หรือแม้กระทั่งการขาดแคลนและขึ้นราคาของค่าขนส่ง อาทิ ค่าระวางเรือ ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของธุรกิจและอุตสาหกรรมนั้นๆ เมื่อสามารถได้ประเภทและจำนวนของวิกฤติแล้ว อาจใช้วิธีการสร้างเกณฑ์สำหรับให้คะแนนและถ่วงน้ำหนัก เพื่อคัดเลือกเหลือวิกฤติในวงจำกัด
5.3.2 โอกาสที่จะเกิดขึ้น (probability of occurrence) เป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งวิจารณญาณ ความรู้ ตลอดจนข้อมูลหรือการจัดทำ focus group จากผู้มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญจากภายนอก จากนั้นจึงมาทำการตั้งเกณฑ์ร่วมกัน เช่น มีโอกาสเกิด 4 ระดับจากต่ำไปสูงสุด และหาฉันทามติร่วมกัน อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิด จำเป็นต้องศึกษาในเชิงลึก พิจารณาอย่างรอบคอบถึงสาเหตุที่จะเกิด มิฉะนั้นมีโอกาสที่จะเกิดความคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และไม่สามารถขีดวงจำกัดของจำนวน scenario
5.3.3 ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่จะตามมา (degree of seriousness and impact) ข้อนี้เป็นการกระชับสุดท้ายในการทำ scenario เพราะว่า วิกฤติประเภทหนึ่งที่จะเกิดขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิด แต่ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่ตามมาไม่สูง ก็ไม่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาการวิเคราะห์ scenario และข้อนี้ได้เห็นความสำคัญและจำเป็นในการมีส่วนร่วมของผู้บริหารทั้งหลาย เนื่องจากฝ่ายการตลาดเห็นว่าไม่รุนแรง และเป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่า แต่ในแง่การจัดซื้อ อาจเห็นว่า ผลกระทบจะรุนแรง เป็นต้น ดังนั้น จึงต้องช่วยกัน ชั่งน้ำหนัก และมองภาพแบบองค์รวม
การคิดวิเคราะห์ผลกระทบและสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นตามมาในแต่ละ scenario ในความเห็น จากประสบการณ์ผู้เขียน มองว่าเป็นเรื่องที่มีความท้าทาย เพราะมีความเป็นไปได้ส่งผลต่อเนื่องกันไปได้หลายระดับทั้งทางตรงและทางอ้อม ต้องใช้ทักษะความรู้ และประสบการณ์ของกลุ่มผู้บริหาร ซึ่งเข้าใจธุรกิจและอุตสาหกรรมของตนเองอยู่แล้ว เนื่องด้วยหากวิเคราะห์ไม่ครอบคลุม แผนการรับมืออาจล้มเหลวได้ เมื่อวิกฤติมาถึงจริงๆ
ทั้ง 3 ปัจจัยเมื่อพิจารณาได้แล้ว ท่านอาจจัดทำในรูปแบบ graphic แบบ 3 มิติ เพื่อลง plot ของทุกวิกฤติได้ จะเห็นภาพชัดเจนว่า องค์กรจัด priority อย่างไร
ติดตาม Part 4 ในหัวข้อ การเตรียมการจัดการวิกฤติและการจัดทำแผนปฏิบัติการในแต่ละ scenario
ขอบคุณที่ติดตามครับ
Comments